5 พฤติกรรมที่คุณควรฝึกถ้าอยากเป็นคนคิดบวก

79198 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 5 พฤติกรรมที่คุณควรฝึกถ้าอยากเป็นคนคิดบวก

เคยสงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมชีวิตของคนบางคนถึงได้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต พร้อมที่จะเรียนรู้ และลงมือทำสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไร้ข้อกังวล ทำไมบางคนถึงมีความสุขกับการใช้ชีวิต มีเพื่อนพ้องที่ดีและมีสังคมดี แต่ในทางกลับกัน ทำไมถึงมีคนบางคนที่รู้สึกชีวิตอับเฉา ซึมเศร้า เต็มไปด้วยความกังวลและเคร่งเครียดตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของ 2 คนนี้ต่างกัน คือ การคิด และทัศนคติในการใช้ชีวิต

มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์มาแล้วว่า คนที่คิดบวกมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตยืนยาว สุขภาพจิตดี สุขภาพร่างกายดี และมีความเติบโตในอาชีพการงาน ในขณะเดียวกัน การฝึกให้คิดบวก ก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่สามารถนำมาใช้ลดระดับความเครียดของคนได้

อย่างไรก็ตาม การคิดบวก ไม่ใช่การมองโลกสวยแบบเปราะบาง แน่นอนว่าโลกนี้มีความสวยงาม แต่การอ่อนต่อโลก การหลอกตัวเอง กับการยอมรับว่าโลกนี้ยังมีสิ่งดีๆ อยู่นั้นมันไม่เหมือนกัน บทความนี้จึงตั้งใจที่จะมาชวนคุณให้พัฒนาความคิด และพฤติกรรมเชิงบวก แบบที่ไม่ใช่โลกสวย ไม่ใช่การหลอกตัวเอง แต่เป็นการฝึกที่จะเปิดใจให้มองเห็นว่าโลกนี้ยังมีมุมอีกมุมหนึ่งที่บางครั้งเราก็มองข้ามไป หรือเพิกเฉยมันไป เพื่อให้คุณมีความสุข ความพอใจ และกำลังใจในการก้าวเดินต่อไปในชีวิตให้มากขึ้น



ต่อไปนี้ คือ  5 พฤติกรรมที่คุณต้องฝึกถ้าอยากเป็นคนคิดบวก



1. การตั้งคำถาม


เมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ แต่คนเราก็ไม่เคยหยุดยั้งที่จะแสวงหาความสมบูรณ์ให้ได้ ดังนั้น ความผิดพลาด หรือความล้มเหลว ที่นำมาสู่ความผิดหวังจึงเป็นเรื่องปกติที่เรามักพบในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่คนคิดบวก กับ คนคิดลบตอบสนองต่อความผิดใดๆ ก็ตามที่ต่างกันนั้นก็คือ วิธีการตั้งคำถาม

คนคิดลบ เมื่อเจอความผิดพลาด จะเกิดคำถามว่า “ใครเป็นคนผิด”

คนคิดบวก เมื่อเจอความผิดพลาด จะเกิดคำถามว่า “เพราะอะไรถึงผิด”

ผลลัพธ์ที่ทำให้ 2 คำถามที่แตกต่างกัน และเป็นที่มาของความสำคัญในการตั้งถามเชิงบวก ก็คือ
เมื่อคุณถามว่า “ใครเป็นคนผิด” คุณจะให้ความสำคัญกับการกล่าวโทษและย่ำอยู่กับอดีต ยังไม่ต้องพูดถึงผลลัพธ์แย่ๆ อีกมากมายเป็นกระพรวนที่จะติดตามมา แค่เฉพาะการหาคำตอบของคำถามนี้อย่างเดียว ก็ทำให้คุณเสียเวลาโดยไม่เห็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้น และไม่ได้ผลลัพธ์อะไรที่ดีขึ้นแล้ว

แต่เมื่อคุณถามว่า “เพราะอะไรถึงผิด” คุณจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการแก้ปัญหาที่จะทำต่อไปในอนาคต ดังนั้น เมื่อคุณรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหา คุณก็พร้อมที่จะวิธีการเดินต่อไปข้างหน้าแล้ว


2. การมองหาความเป็นไปได้


เราไม่ได้สนับสนุนให้มองโลกสวย เพราะในความเป็นจริงทุกสิ่งย่อมมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ เพียงแต่คุณก็อย่าเอาแต่กังวลและมองแต่ความเลวร้ายอย่างเดียว เปิดใจมองและยอมรับความสวยงามของโลกนี้บ้าง เชื่อเถอะว่าความเจ็บปวดอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป ตัวอย่างเช่นผู้ประสบความสำเร็จในโลกนี้ มีใครบ้างที่ไม่เคยผ่านความเจ็บปวด มีใครบ้างที่เดินผ่านความเจ็บปวดด้วยการล้มเลิกและหลีกหนี มีใครบ้างที่เอาแต่โทษโชคชะตาว่าทำไมช่างโหดร้ายกับเรานัก

ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำหากอยากเป็นคนคิดบวก จึงไม่ใช่การมองทุกอย่างให้สวยงามว่าชีวิตดี๊ดี หรือมองว่าทุกสิ่งจะมีปัญหาให้คอยระวังระแวงอย่างเดียว แต่เป็นมองความเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง เมื่อได้ข้อมูลที่มากพอ คุณก็จะมองเห็นความหวังในชีวิตมากขึ้นอีกนิด และมองเห็นสิ่งที่คุณควรเตรียมการเพื่อป้องกันปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีพลัง และมีแรงใจที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้ามากขึ้น


3. การชื่นชมสิ่งดีๆ ในชีวิตแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย


อย่างที่ได้บอกไว้ในข้อที่ 2 ว่าโลกเรามีทั้งด้านบวก และด้านลบ แต่สิ่งที่มักจะทำให้คนฝังใจ และกระทบกับความรู้สึกอย่างรุนแรงมักจะเป็นเรื่องด้านลบมากกว่า ลองนึกตามดูสิว่า สมมติว่าคุณตื่นมาในตอนเช้าของวันหยุดที่แสนจะธรรมดาหนึ่งวัน คุณออกมาเดินเล่นในสวนสาธารณะใกล้ๆ บ้าน อากาศดี มีลมแผ่วๆ แดดไม่แรงมาก เป็นวันหยุดที่คุณมีเวลามากมายที่จะทำสิ่งต่างๆ และคุณเพิ่งจะได้ช่วยเหลือเด็กน้อยคนหนึ่งที่พลัดหลงกับพ่อแม่ได้เจอกัน ในขณะที่คุณกำลังดื่มด่ำและอิ่มเอมกับความสุขเล็กๆ นี้อยู่นั้น คุณก็เจออันธพาลกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาหาเรื่อง พวกนั้นมีปืนอยู่ในมือ และขู่เอาเงินของคุณไป คุณยอมให้เงินพวกนั้นไปและเขาก็ปล่อยคุณออกมาด้วยดีคุณพยายามทำใจ แต่ขณะที่คุณกำลังเดินกลับบ้านอยู่นั้น จู่ๆ ฝนก็เทโครมลงมาจนคุณเปียกโทรมไปทั้งตัว คำถามคือ เมื่อคุณกลับถึงบ้าน อะไรคือบทสรุปของการออกไปนอกบ้านในวันนี้ของคุณ ระหว่าง

A. วันนี้เป็นวันที่ดีอีกหนึ่งวัน ทั้งได้เดินเล่นในอากาศดีๆ ตอนเช้าและได้ช่วยเด็กหลงทาง
B. ตอนเช้าก็ดีนะ แต่หลังจากนั้นแย่ชะมัด
C. ซวยฉิบ อุตส่าห์อารมณ์ดีๆ ดันไปเจอพวกนักเลง แถมจู่ๆ ฝนก็เทโครมใส่ซะได้
D. ไม่น่าเสียเวลาตอนไปช่วยเด็กนั่นเลย ไม่งั้นก็คงไม่เจอพวกอันธพาล แถมได้กลับถึงบ้านก่อนฝนตกแล้ว

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบหนักไปทางข้อ C และ D น้อยคนนักที่จะเลือกข้อ A ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องปกติ ทีนี้เรื่องดีเรื่องร้ายมันไม่ได้นัดคุณล่วงหน้านี่ว่าจะมาวันไหน ให้คุณเตรียมพร้อมรับไว้ จึงเป็นที่มาของความเครียด ความกังวลและระวังตัวตลอดเวลา จนคุณไม่กล้าไว้วางใจต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลให้คุณไม่อาจรับรู้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตได้... อนิจจา ชีวิตช่างโหดร้ายนัก เหนื่อยเหลือเกิน ไม่อยากให้ถึงวันพรุ่งนี้เลย ...

หากความรู้สึกของคุณต่อการใช้ชีวิตมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ เราขอชวนให้คุณพกสมุดเล็กๆ ติดตัว และฝึกที่จะมองหาสิ่งดีๆ ในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม ชื่นชมมัน และจดบันทึกไว้ในสมุดพกของคุณสักวันละ 3 – 5 ข้อ เมื่อไหร่ที่คุณท้อแท้และหมดกำลังใจ คุณก็เพียงแค่หยิบสมุดพกน้อยๆ เล่มนี้ขึ้นมาเปิดอ่าน นึกถึงช่วงเวลาที่คุณประสบและชื่นชมมัน จากนั้นจึงหายใจเข้าลึกๆ สัก 5 รอบ เก็บสมุดของคุณแล้วค่อยเดินหน้าต่อไป


4. การมองหาสิ่งที่เราควรทำ เลิกมองตัวเองเป็นเหยื่อ


หลายครั้งที่เราติดกับดักความคิดตัวเอง และไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ด้วยการบอกตัวเองว่า “ฉันทำไม่ได้” “มันเป็นไปไม่ได้” “มันอยู่เหนือการควบคุมของฉัน” แล้วก็ปล่อยให้ตัวคุณเองยืนอยู่กับที่ เป็นฝ่ายถูกกระทำ แล้วให้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไหลผ่านคุณไปเพราะคุณไม่ลงมือทำอะไรเลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ในที่ทำงานก็คือ คุณจะต้องประสานงานและส่งผ่านข้อมูลกับเพื่อนร่วมงาน คุณทำหน้าที่ของคุณอย่างดี ส่งเมลข้อมูลให้เขาและนั่งรอการตอบกลับจากเขา เพื่อจะนำข้อมูลจากเขามาทำงานต่อได้ หลังจาก 5 วันผ่านไป เขาก็ยังไม่ตอบอะไรกลับมา จนหัวหน้างานของคุณเดินมาถามความคืบหน้า คุณก็ได้แต่บอกว่าส่งข้อมูลให้เขาไปแล้ว แต่เขายังไม่ตอบอะไรกลับมา เพราะงานเขายุ่งมาก คุณจึงทำได้แค่รอ แล้วคุณก็ปล่อยเวลาผ่านไปจนใกล้จะถึงกำหนดส่งงาน หัวหน้าคุณมาติดตามงานอีกครั้ง แต่คุณก็ยังไม่ได้คำตอบจากเพื่อนร่วมงานของคุณ ผลที่ตามมาก็คือ คุณส่งงานได้ล่าช้ากว่ากำหนด เพราะเพื่อนร่วมงานคุณไม่เห็นว่ามีเมลของคุณเข้าไป เลยเอาเวลาไปทำงานอื่นก่อน จนเริ่มสงสัยว่าทำไมคุณไม่ส่งงานให้เขาสักที จึงเดินมาถามคุณและได้คำตอบว่าคุณส่งข้อมูลให้เขาไปนานแล้ว ถึงได้กลับไปเช็คเมลและเห็นว่ามันไปอยู่ในถาดเมลขยะ แท้จริงแล้ว เพื่อนของคุณอาจจะสามารถจัดแบ่งเวลามาทำงานให้คุณได้ เพียงแต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเมื่อทุกคนต่างรอข้อมูล เพื่อนของคุณก็ไม่มาถามว่าคุณส่งข้อมูลให้แล้วหรือยัง ตัวคุณเองก็คิดเพียงว่าฉันส่งให้แล้ว ฉันทำอะไรไม่ได้นอกจากรอ

แท้จริงแล้วความคิดของคุณไม่ผิด แต่ก็ยังไม่ถูก หากคุณต้องการฝึกตัวเองให้เป็นคนคิดบวก เราอยากชวนให้คุณมาลองมองหาสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ในกรณีตัวอย่างนี้ ผลลัพธ์ที่ต้องการก็คือ ข้อมูลตอบกลับจากเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำและสามารถทำได้ในเรื่องนี้จึงเป็น การสอบถามติดตามข้อมูลหลังจากส่งเมลแล้ว เริ่มตั้งแต่การแจ้งเขาว่าเราส่งเมลให้เขาแล้วนะ เขาได้รับหรือยัง การเตือนเขาเป็นระยะว่าคุณจำเป็นต้องขอข้อมูลจากเขาภายในวันไหน เพื่อที่จะส่งงานได้ทันกำหนด แน่นอนว่าคุณกำหนดหรือบังคับเพื่อนร่วมงานของคุณให้เปลี่ยนไม่ได้ แต่คุณสามารถเปลี่ยนตัวเองได้นี่! แล้วจะรออะไร?


5. การยอมรับและปล่อยวาง


ท้ายที่สุดแล้วคนเราก็ไม่สามารถได้ทุกอย่างที่ต้องการได้ เรามักจะต้องเสียสละบางสิ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสละเวลา สละแรงงาน สละเงินทอง สละชื่อเสียง สละความสัมพันธ์ หรืออะไรก็ตามอีกมากมาย แต่กับบางเรื่องหรือบางอย่าง ต่อให้เราสละไปมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถได้ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อถึงเวลานั้น และคุณได้ทบทวนแล้วว่าคุณได้ลองทุกทาง และทำเต็มที่แล้ว สิ่งที่สุดท้ายที่คุณจะทำได้ก็เหลือเพียงการ ทำใจ

การฝึกในข้อนี้เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำได้ยากที่สุด เรามักได้ยินคนบอกให้เราปล่อยวาง อย่ายึดติด ทำใจ หรืออีกมากมายที่คนจะพูดกัน แต่หากมันทำได้ง่ายๆ คุณก็คงทำไปแล้ว! ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้คุณฝึกค่ะ ในครั้งแรกๆ มันคงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ คุณก็จะทำมันได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

ก่อนอื่น ขอให้คุณทบทวนตัวเองดูสิ ว่าทำไมถึงอยากได้สิ่งนั้น และหากคุณไม่ได้สิ่งนั้นแล้วมันจะส่งผลต่อคุณอย่างไร

หากผลที่จะตามมา เป็นผลกระทบแบบรูปธรรม เช่น ทำให้ตกงาน เสียเงินจำนวนมาก หรือเป็นอันตรายร่างกาย หรือ ต่อผู้อื่น คุณก็ลองเปลี่ยนโจทย์ใหม่จากการที่ต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ เป็นการรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาแทน

หากผลที่จะตามมา เป็นผลกระทบแบบนามธรรม เช่น ทำให้คุณเสียใจ เจ็บปวดใจ หรือ หงุดหงิด คุณก็ทำเพียงแค่เปิดใจตัวเองให้รับรู้ว่าคุณมีความกลัวอยู่ คุณกลัวที่จะเสียใจ คุณกลัวความเจ็บปวด คุณกลัวที่จะหงุดหงิด หรือกลัวอะไรก็ตาม แล้วบอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” จากนั้นค่อยๆ ยอมรับให้มันเป็นส่วนหนึ่งของคุณ อย่าปฏิเสธหรือหลีกหนีมัน เพียงแค่เผชิญหน้าและบอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” จนกระทั่งคุณรู้สึกว่าน้ำหนักในอกของคุณมันเริ่มเบาสบายขึ้น แล้วค่อยบอกกับตัวเองปิดท้ายว่า “ฉันจะดูแลเธอเอง”

มันไม่ใช่สิ่งผิดที่คุณจะอ่อนแอบ้าง เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้คุณยังเป็นมนุษย์ การที่คุณรู้จักเสียใจ รู้จักเจ็บปวด เป็นโชคดีที่คุณได้รับเพื่อให้คุณสามารถเข้าใจความเจ็บปวดของผู้อื่นได้ ดังนั้น ยอมรับเถอะ ว่าคุณกำลังเสียใจ ยอมรับเถอะว่าคุณกำลังเจ็บปวด ยอมรับเถอะว่าคุณกำลังหงุดหงิด เมื่อคุณยอมรับได้ คุณจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของคุณได้เลย แถมยังสามารถแปรเปลี่ยนมันเป็นพลังให้คุณก้าวต่อไปข้างได้อีกด้วย

 

จากทั้ง 5 ข้อนี้ คุณจะเห็นได้ว่า มันก็มีบางข้อล่ะ ที่คุณเคยทำอยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่เคยทำเลย หรือบางข้อก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกกล้ำกลืนฝืนทนที่จะทำมันจริงๆ ดังนั้น 5 พฤติกรรมนี้จึงไม่ใช้สิ่งที่ยากเกินกว่าที่คุณจะทำ เพียงแต่คุณได้ทำมันมากพอแล้วหรือยัง หรือคุณเพียงเลือกที่จะทำบางข้อแล้วพอใจที่จะหยุดตัวเองอยู่แค่นี้ และบอกกับตัวเองว่า ฉันคิดบวกพอแล้ว

ไม่ว่าคุณจะเลือกการฝึกฝนและตั้งใจทำพฤติกรรมทั้ง 5 ให้เกิดเป็นความคุ้นชิน หรือจะเลือกทำบางข้อที่ตัวคุณเองสบายใจ นั่นก็เป็นทางเลือกของคุณ เป็นการตัดสินใจของคุณ และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น มันก็เป็นผลลัพธ์ของคุณ เราทำได้เพียงช่วยเตือนคุณว่า ถ้าคุณรักจะใช้ชีวิตแบบเดิม ผลลัพธ์ของชีวิตคุณก็จะเป็นแบบเดิม ถ้าคุณไม่เปิดโอกาสให้ตัวคุณเอง ต่อให้ใครเอาโอกาสมาใส่พานประเคนให้คุณตรงหน้า มันก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้นแต่อย่างใด มีแต่น่าเสียดายโอกาสไปเปล่าๆ เมื่อถึงเวลานั้น คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาพูดโทษว่าเทวดาฟ้าดินอีกต่อไป... ขอให้คุณโชคดี และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังจากการคิดบวก

credit ภาพ : Micah. H/unsplash

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้