https://www.facebook.com/PeopleValue.Co.Th 40 – 50 – 60 – 70 ใครผิดใครถูก? - peoplevalue

40 – 50 – 60 – 70 ใครผิดใครถูก?

6421 จำนวนผู้เข้าชม  | 

40 – 50 – 60 – 70 ใครผิดใครถูก?

เก็บมาฝาก จากห้องเรียน : 40 – 50 – 60 – 70 ใครผิดใครถูก?

ถ้าคุณซื้อปากกาด้ามหนึ่งในราคา 40 บาท ก่อนจะขายให้เพื่อนในราคา 50 บาท

จากนั้นซื้อปากกาอีกครั้งหนึ่งในราคา 60 บาท แล้วขายอีกครั้งในราคา 70 บาท

คุณจะได้กำไรกี่บาท?

1.)    10 บาท

2.)    20 บาท

3.)    30 บาท


ก่อนจะเฉลย ขอเล่าคำตอบที่ได้จากชั้นเรียนขององค์กรแห่งหนึ่งเพื่อชวนทุกท่านคิดต่อนะคะ ในชั้นเรียนนี้มีผู้เข้าอบรม 20 ท่าน แบ่งคำตอบของแต่ละท่านได้ดังนี้

ตอบ 30 บาท จำนวน 15 คน

ตอบ 20 บาท จำนวน 1 คน

ตอบ 10 บาท จำนวน 4 คน

จากนั้นวิทยากรของเราให้คนที่มีคำตอบแบบเดียวกันนั่งด้วยกัน ในช่วงนี้เองคนที่ตอบ 20 บาทแจ้งว่าอยากจะขอเปลี่ยนคำตอบ ซึ่งวิทยากรอนุญาตให้เปลี่ยนได้ แต่อยากให้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่มช่วยอธิบายวิธีคิดที่มาของคำตอบของแต่ละกลุ่มก่อน หลังจากที่แต่ละกลุ่มอธิบายวิธีคิดของตัวเองเสร็จ วิทยากรก็เปิดโอกาสให้คนที่อยากเปลี่ยนคำตอบสามารถย้ายกลุ่มได้  กลายเป็นว่ามีคนจากกลุ่มใหญ่ขอเปลี่ยนคำตอบมาเป็น 20 บาท ส่วนคนเดิมที่ตอบ 20 บาท ก็เปลี่ยนใจไม่เปลี่ยนคำตอบแล้ว คำตอบของแต่ละคนตอนนี้จึงเป็น

ตอบ 30 บาท จำนวน 14 คน

ตอบ 20 บาท จำนวน 2 คน

ตอบ 10 บาท จำนวน 4 คน

หลังจากสรุปคำตอบรอบที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย วิทยากรก็เฉลยคำตอบว่า คำตอบที่ถูกคือ 30 บาท ทุกคนก็เชื่อตามนั้นและสรุปในใจตัวเองเรียบร้อย แต่เพื่อเป็นการพิสูจน์คำตอบ วิทยากรจึงให้ตัวแทน 2 คนจากในชั้นเรียนออกมาหน้าชั้น โดยหนึ่งคนจะได้ปากกา และอีกคนได้เงินในมือ 100 บาท เมื่อทำการซื้อขายกันจริงเสร็จ คำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่คนถือเงิน

ซื้อขายครั้งที่ 1 : 100 – 40 = 60 + ปากกาหนึ่งด้าม

ซื้อขายครั้งที่ 2 : 60 + 50 = 110

ซื้อขายครั้งที่ 3 : 110 – 60 = 50 + ปากกาหนึ่งด้าม

ซื้อขายครั้งที่ 4 : 50 + 70 = 120

และคำตอบที่ได้ คือ 20 บาท!!! คำตอบที่มีคนตอบน้อยที่สุด และเกือบจะไม่มีคนตอบแล้ว หากวิทยากรไม่ได้เปิดโอกาสให้อธิบายวิธีคิด

จากเรื่องเล่านี้ คุณสังเกตเห็นอะไรบ้าง? สะท้อนข้อคิดอะไรได้บ้าง?

สำหรับ People Value เราได้ข้อคิดว่า

1.)    เสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป

เหมือนกับคำตอบของคน 14 คนจาก 20 ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

2.)    หากไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงความคิดเห็น เสียงส่วนน้อยที่ถูกต้องอาจถูกโน้มน้าวให้คล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง หรือดีที่สุดได้

เช่นเดียวกับคำตอบในรอบแรก ที่คนที่ตอบถูกเพียงคนเดียว อยากจะเปลี่ยนคำตอบเป็นแบบเพื่อน เพื่อให้ตัวเองไม่แตกต่าง สถานการณนี้ หากเปลี่ยนจากตัวเลขเป็นการตัดสินใจแก้ไขปัญหา สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ คุณอาจจะเสียความคิดเห็นที่น่าสนใจ และนำมาใช้ได้จริงแบบมีประสิทธิภาพที่สุดไปได้

3.)    อย่าเพิ่งเชื่อใครเพียงเพราะเขามีสถานะสูงกว่า มีความน่าเชื่อถือ โดยที่ยังไม่พิสูจน์คำตอบ

หากคุณเชื่อคำตอบที่วิทยากรเฉลยในรอบแรกก่อนที่จะพิสูจน์คำตอบจริงๆ คุณก็จะได้ความรู้ และความเชื่อผิดๆ ติดตัวไป เพราะฉะนั้นฟังได้ รับรู้ได้ แต่ก่อนที่จะปักใจเชื่อ คุณต้องพิสูจน์ให้รู้แน่ก่อน!

 

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว อยากให้ลองถามตัวเองกันดูบ้างสิว่า แล้วคุณล่ะ... คิดยังไง?

 



ธนัชพร คุณารยกุล

Course Designer

People Value

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้