3360 จำนวนผู้เข้าชม |
ความเดิมตอนที่แล้วว่าถึงการสรรหาและวิธีการสัมภาษณ์พนักงานไปแล้ว ในบทความ "STAR Technique สัมภาษณ์คนอย่างไรไม่ให้โดนหลอก"
เราสัมภาษณ์ไปแล้วจะคัดเลือกใครเป็นม้าศึก ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่ดุเดือดแบบนี้ เราจะมีเกณฑ์อะไร ที่มั่นใจได้ว่า คนที่เอาเข้ามานั้นจะทราบงานที่ตัวเองต้องทำและตรงกับงานที่จะต้องทำจริงๆ
เลือกขาว สวย โหวงเฮ้งดี หรือเอาแบบไม่เถียง "ได้ครับ" "ได้ค่ะ" ดี การคัดคนให้ตรงกับธุรกิจ มีความสำคัญอย่างมาก ยกตัวอย่างองค์กรระดับโลกให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคนมาทำงาน เช่น
Laszlo Bock รองประธานอาวุโสฝ่ายจัดการบุคคลของกูเกิล ระบุว่า ในภาพรวมกูเกิลไม่ได้คัดเลือกคนจากเกรด ผลคะแนนหรือมหาวิทยาลัยที่จบ แต่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของผู้สมัครที่จะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่กูเกิลต้องการ แต่ Bock ก็ยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นเสมือนการฝึกฝนความสามารถด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในหลายๆอาชีพ เพียงแต่การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าคุณมีความสามารถจริงๆ เพราะสังคมทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับ “คุณสามารถทำอะไรได้จากสิ่งที่คุณรู้” มากกว่า รวมไปถึงให้ความสำคัญกับ soft skills คือความเป็นผู้นำ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสามารถในการประสานงาน การปรับตัวและการชอบที่จะเรียนรู้อยู่เสมอๆ มากกว่า
สตีฟ จ็อบส์ เคยกล่าวกับ CNN ว่า สิ่งที่ ทำให้ Apple ก้าวมาถึงจุดนี้คือ “การมีพนักงานที่หลากหลาย” กล่าวคือ พนักงานในบริษัทไม่จำเป็นต้องจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือจบสายวิทย์เท่านั้น เราจึงพบว่า Apple มีพนักงานที่หลากหลายทั้งนักดนตรี, ศิลปิน, นักเขียน หรือนักประวัติศาสตร์ ซึ่งพวกเขาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ระดับเทพในเวลาเดียวกันด้วย ทั้งนี้ Apple เองก็มีโปรแกรมฝึกหัดสำหรับพนักงานใหม่ที่เรียกว่า Apple University ที่ให้พนักงานเรียนรู้และเสริมทักษะสิ่งที่จำเป็นเพื่อใช้พัฒนาในการทำงาน
สำหรับสายงานทรัพยากรบุคคล เราต้องกลับไปดูที่พื้นฐานครับ
เสาหนึ่งของงานทรัพยากรบุคคล คือ คำบรรยายลักษณะงาน หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า JD (Job Description) นั้นแหละครับ คนที่ทำงานบ้างคนยังไม่เคยเห็น JD ของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
ลักษณะงานที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
1.ชื่องาน (Job Title) ขอบเขตการทำงาน ลักษณะจะต้องชี้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และเป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถเทียบกับองค์กรอื่นได้
2 คุณสมบัติของตำแหน่งงาน (Job specification) จะเป็นการระบุข้อมูลทั่วไปทางกายภาพ ของพนักงานตำแหน่งนั้น เช่น อายุ วุฒิ ประสบการณ์
3.รายละเอียดที่ระบุเกี่ยวกับงาน (Job Identification) ระบุสายงาน แผนกที่งานนั้นสังกัดอยู่ รหัสของงาน ตำแหน่งที่บังคับบัญชา ค่าจ้าง และจำนวนผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา
4.หน้าที่งาน (Job Duties) เป็นส่วนที่ต้องระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของหน้าที่ต้องปฏิบัติ โดยหลักการทั่วไปแล้ว จะเรียงลำดับหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นข้อ ๆ หรือเป็นขั้นตอนกระบวนการ จะใส่ตัวประเมินค่างาน (KPIs) โดยระบุน้ำหนักของงาน หรือระยะเวลาในการปฏิบัติงานเป็นร้อยละ อาจระบุเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงานในหน้าที่งานนี้ คุณสมบัติของผู้ทำงาน (Competency) และคุณสมบัติพิเศษด้วยก็ได้
เห็นไหมครับ ลองพิจารณา ดูว่า เสาต้นนี้ของท่าน ครบตามนี้หรือไม่ ถ้าไม่ครบ การจัดตั้งทีมจัดทำ คำบรรยายลักษณะงาน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ ได้จริงนั้น จะต้องมีทีมงานที่ความเข้าใจที่ชัดเจนในแต่ละบทบาทงานในแต่ละตำแหน่ง รวมถึงวิธีการเขียนที่ถูกต้อง พร้อมทั้งลักษณะแบบฟอร์มที่ง่ายต่อการใข้งาน ( SMART JD ) ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถใช้งานคำบรรยายลักษณะงานที่ดีและมีประสิทธิผลสูงสุด
เพราะถ้า เลือก คนที่ “ไม่ใช่” มาอยู่กัน ไม่เพียงท่านจะอึดอัดแล้ว ระวังจะกลายเป็นว่า ถูก พนักงาน “เท” เอานะครับ
People Value.co.th