6052 จำนวนผู้เข้าชม |
แต่ละองค์กรมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักสูตรฝึกอบรมที่ไม่เหมือนกัน บ้างก็พิจารณาจากวิทยากรเป็นหลัก บ้างก็พิจารณาจากเนื้อหา บ้างก็พิจารณาจากค่าอบรม ไม่ว่าคุณจะเลือกด้วยหลักเกณฑ์อะไรก็ตาม คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าคือ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเงินที่จ่ายไป จะไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ!
1. จะอบรมทั้งที ต้องมีวัตถุประสงค์ / เป้าหมายที่ชัดเจน
ทุกวันนี้เวลาที่คุณมองหาหลักสูตรอบรม คุณชี้แจงวัตถุประสงค์กับวิทยากร / บริษัทจัดอบรมว่าอย่างไร?
1.1 “อยากให้หัวหน้างานสามารถมอบหมาย และสั่งงานได้ชัดเจนมากขึ้น และหมั่นติดตามความคืบหน้า เพื่อให้ได้ผลงานที่ถูกต้องตามเวลาที่กำหนด”
1.2 “อยากให้หัวหน้างานทำงานได้ดีขึ้น” / “อยากให้มีพนักงานมีพฤติกรรมการทำงานที่ดีขึ้น”
ถ้าคุณชี้แจงวัตถุประสงค์แบบแรก ยินดีด้วย! คุณมาถูกทางแล้ว!
ลองนึกดูสิ ถ้ามีคนจ้างให้คุณวาดภาพบ้าน 1 หลังสำหรับครอบครัว พ่อ แม่ ลูก รวม 4 คน คุณจะวาดบ้านแบบไหน แล้วถ้าคุณวาดภาพเสร็จแล้ว คนที่จ้างคุณเพิ่งมาบอกเพิ่มว่า ครอบครัวนี้ชอบบ้านสวนที่สว่าง ๆ และมีต้นไม้เยอะ ๆ เลยจะขอให้มีกระจกล้อมรอบ และมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ในบ้านด้วย เชื่อได้ว่าบ้านที่วาดออกมาเสร็จก่อนหน้านี้ แทบจะไม่ตอบโจทย์แน่นอน
ดังนั้น ยิ่งคุณให้โจทย์ที่ชัดเจนเท่าไร หลักสูตรที่จะได้ก็จะสามารถนำเสนอเนื้อหา และพัฒนาทักษะที่คุณต้องการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนโฟกัสได้ถูก ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาจะต้องไปทำ และจะถูกวัดผลอย่างไร เรียกได้ว่า Win x 3 เลยทีเดียว คือ ผู้เรียนก็ได้พัฒนาอย่างชัดเจน ผู้จัดอบรมก็ได้ผลลัพธ์ องค์กรก็ได้ผลงานที่ดีขึ้น
2. อย่ายัดกับข้าวทุกอย่างลงในจานเดียว (อย่าพยายามใส่ความรู้ทุกอย่างลงในการอบรมวันเดียว)
การอบรมก็เหมือนการทานอาหาร ถ้าคุณเทอาหารทุกอย่างทั้งคาวหวานรวมกันอยู่ในอยู่จานใบเดียว นอกจากจะคนกินจะมึนกับรสชาติ ยังอาจจะจุกเจียนตายอีกด้วย
การเรียนรู้ก็เช่นกัน หากคุณพยายามใส่เนื้อหาที่เยอะเกินไป คนเรียนก็จะจับประเด็นไม่ไหว ทำได้แค่ปล่อยให้เนื้อหาผ่านหู แถมพอเรียนจบก็มึน ย่อยความรู้ไม่ทัน สุดท้ายก็เอาความรู้และทักษะที่ได้เรียนไปใช้ไม่ถูก
ดังนั้น หากอยากพัฒนาผู้เรียนจริง ๆ ควรจะเลือกเนื้อหา / ทักษะที่สำคัญ แล้วใช้เวลาที่มีทำให้มั่นใจได้ว่าผู้เรียนจะเข้าใจ และได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการจริง ๆ ผู้เรียนเองก็จะมีเวลาทำความเข้าใจเนื้อหา นอกจากจะสนุกกับการเรียนแล้ว ยังได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย
3. Workshop / กิจกรรมประกอบการอบรม ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ชัดเจน
การระบุว่ามี Workshop กิจกรรมในห้องเรียนดูจะเป็นกระแสนิยมในการคัดเลือกหลักสูตรสมัยนี้ไปแล้ว ถ้าโยนโจทย์นี้เข้าไปในตลาด เชื่อว่า 95% ของหลักสูตรในตลาดทุกวันนี้จะแจ้งว่ามี Workshop กิจกรรมด้วย ทว่าสิ่งที่คุณต้องระวังในการคัดเลือกหลักสูตรจากการโฆษณาต่าง ๆ เหล่านี้ คือ
3.1 Workshop / กิจกรรมเหล่านี้ ทำแล้วได้อะไร และจะเชื่อมโยงหรือสรุปกิจกรรมว่าอย่างไร
เช่น ถ้า Workshop คือการ Brainstorm ในโจทย์กรณีศึกษาที่กำหนด อาจเป็นการทำเพื่อฝึกให้คิด หรืออาจเป็นเพื่อให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย แต่ถ้าคุณคิดว่า Brainstorm จะช่วยพัฒนาทักษะการมอบหมายและสั่งงานได้ คุณก็พลาดแล้ว เพราะการ Brainstorm ใช้แค่หัวคิด แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ การเลือกใช้ Workshop / กิจกรรมรูปแบบอื่นจะเหมาะสมมากกว่า
3.2 สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Workshop / กิจกรรม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการแค่ไหน
ถ้าเป็นกิจกรรมสร้างบรรยากาศ เอาสนุก เอาฮา แต่ไม่ได้สะท้อนเนื้อหาหลักสูตรเท่าที่ควร สู้เอาเวลามาให้ผู้เรียนค่อยๆ ทำความเข้าใจเนื้อหาจะดีกว่าไหม แต่เอาจริง ๆ นะ เดี๋ยวนี้ก็มีกิจกรรมเยอะแยะมากมาย ที่สามารถสะท้อนการเรียนรู้พร้อมสร้างความบันเทิงได้ เวลาก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ใช้เวลาทุกนาทีให้มีค่าดีกว่า แล้วจะได้ไม่เสียดายเวลาทีหลัง
4. วิทยากรไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้ความรู้ แต่คือผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยแนะนำและสร้างความเข้าใจ
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนจดจำและนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้ คือ ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติที่เห็นได้ชัด
หากวิทยากรที่มาบรรยายทำแค่เพียงเล่าทฤษฎีให้ทราบ คนของคุณก็จะได้แค่ความรู้ ที่ไม่แน่ว่าจะเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง อีกทั้งเมื่ออบรมเสร็จแล้วยังอาจจะลืมความรู้ไป 3 ส่วน 4 ของเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ แต่ถ้าหากวิทยากรสามารถเล่าตัวอย่าง และตอบคำถามได้ชัดเจน คนของคุณก็จะได้ความเข้าใจ และแนวทางการนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง ยิ่งถ้าหากได้ลงมือทำ Workshop เพื่อฝึกทักษะจริง ๆ แล้ว จะยิ่งทำให้คนของคุณเหมือนได้ติดเทอร์โบเลยทีเดียว ดังนั้น จะลงทุนพัฒนาคนทั้งที ต้องเลือกวิทยากรที่สามารถตอบคำถาม ให้คำแนะนำ และยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ชัดเจน
5. จับคู่ให้ถูกตัว
จากประสบการณ์จัดอบรมมากับหลากหลายองค์กร หลายประเภทธุรกิจ เราพบว่าผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มมีลักษณะการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน
บางกลุ่มต้องการให้วิทยากรค่อยๆ สอนแบบค่อยเป็นค่อยไป และชอบการเรียนรู้แบบ Class Room Training
บางกลุ่มก็มีศักยภาพสูงมาก เรียนรู้ไว ต้องการเห็นผลลัพธ์จากการปฏิบัติจริง ไม่ชอบเสียเวลาเปล่าไปกับการนั่งอบรมความรู้ที่ตนรู้อยู่แล้ว
ถ้าต้องการจัดอบรมให้คนกลุ่มนี้ คุณสามารถส่งข้อมูลให้เขาศึกษาชุดความรู้ด้วยตัวเองมาก่อน แล้วค่อยมาทำ Workshop ในห้องเรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกขึ้น เข้าใจแนวทางการประยุกต์ใช้ความรู้ในการทำงานจริง และเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการประยุกต์หรือทำจริง พร้อมรับคำแนะนำจากวิทยากรจากการฝึกปฏิบัติจริงได้
6. เวลาแค่วันเดียว เปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็น Iron Man ไม่ได้
การอบรมก็เหมือนยารักษาโรค คุณจะคาดหวังว่าการทานยาแค่วันเดียวแล้วอาการป่วยจะหายไปไม่ได้ เหมือนกับการที่คุณเป็นโรคกระเพาะ แล้วทานยา 1 เม็ดย่อมไม่หาย แต่จะต้องมีการตรวจสอบและติดตามอาการ เพื่อการดูแลรักษาอยู่เสมอ
และที่สำคัญ! ไม่ว่ายารักษาจะดีแค่ไหน แต่หากว่ารักษาจนหายดีแล้ว ผู้รับการรักษากลับยังต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ หรืออยู่ในแหล่งเพาะเชื้อต่อไป อาการป่วยที่เฝ้ารักษาจนหายดีก็จะกลับมาอีกครั้งได้
เช่นกันกับการพัฒนาบุคลากร หากจัดอบรมเพียงครั้งเดียวแล้วไม่มีการติดตามต่อเนื่อง ก็ย่อมไม่เห็นผล หรือหากมีการติดตามต่อเนื่องจนเกิดการพัฒนาได้แล้ว แต่กลับไม่มีระบบที่จะช่วยสนับสนุนให้เขารักษาการทำงานที่ได้รับการพัฒนาแล้วไว้ได้ เช่น การพัฒนาพนักงานให้กล้าเสนอความคิดสร้างสรรค์ แต่หัวหน้างานไม่ช่วยผลักดัน ไม่รับฟัง และไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปิดรับสิ่งใหม่ มันก็ง่ายมากที่เขาจะตัดสินใจไม่ทำในสิ่งที่ควรทำต่อไป
ดังนั้น หากคุณเชื่อว่าการอบรมคือการลงทุน คุณต้องมองหาความคุ้มค่าที่จะได้ จากนี้ไปลองตั้งคำถามก่อนตัดสินใจดูว่า ด้วยราคาที่ต้องจ่ายไป คุณกำลังจะได้อะไรกลับมา และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ผลลัพธ์นั้นจริง แล้วสิ่งที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่ากับการลงทุนแค่ไหน
หรือลองดูแนวทางการกำหนดผลลัพธ์ได้ที่นี่ ผลลัพธ์ของการอบรมที่คุณกำหนดได้ แล้วค่อยหาแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับความคาดหวังที่คุณต้องการ แค่นี้ก็ช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จในการจัดอบรมให้คุ้มแล้วค่ะ
Course Designer ประจำ People Value