3570 จำนวนผู้เข้าชม |
ทุนทางปัญญา ก็คือ
ผลของความคิด ในการใช้สิ่งที่มีอยู่ใกล้ๆ ตัวมาสร้างสรรค์ หรือ ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
ทุนทางปัญญา ประกอบด้วย ทุนทั้งหมด 3 ชนิดคือ
1. Human Capital ทุนมนุษย์
2. Social capital ทุนทางสังคม
3. Structural Capital ทุนทางโครงสร้าง
วันนี้ผมขอแนะนำให้รู้จักกับทุนตัวที่สอง
Social capital (ทุนทางสังคม)
องค์กรที่ประกอบขึ้นด้วยคนเก่ง (มีปัญญา) เพียงอย่างเดียวไม่สามารถพัฒนาองค์กรขึ้นมาได้ พวกเขาต้อง สื่อสาร เชื่อมโยง ทำงานร่วมกัน เป็นทีมเดียวกันองค์กรจึงสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ เราเรียก การเชื่อมโยงทุนมนุษย์เข้าด้วยกันว่า ทุนทางสังคม
ทุนตัวนี้ เกี่ยวเนื่องมาจาก ทุนตัวที่ผ่านมา คือ ทุนมนุษย์
หากจะกล่าวได้ว่า ทุนมนุษย์ 1 คน สามารถสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงได้มากมาย ด้วยพลังต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นในเรื่องทุนมนุษย์แล้ว ทุนทางสังคมตัวนี้จะยิ่งทวีพลังในการเปลี่ยนแปลงได้เป็นทวีคูณไปอีก โดยจะเกิดขึ้นเมื่อ สามารถเชื่อมต่อ ทุนมนุษย์ เข้าด้วยกันได้
Social Capital (ทุนทางสังคม) คือ การร้อยเรียงหรือเชื่อมต่อ ความรู้ ทักษะ/ความสามารถ ประสบการณ์ และ ความคิดสร้างสรรค์ ของคนในองค์กรเดียวกัน (ทุนมนุษย์) ให้สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ เพื่อสร้างผลงานออกมาได้ดีขึ้น มากขึ้น เร็วขึ้น
ประกอบขึ้นด้วยหลากหลายปัจจัย แต่ผมขอยกมาเพียง 4 ส่วนนี้ คือ
1. Network เครือข่าย
2. Value ค่านิยม
3. Diversity ความแตกต่าง
4. Trust ความไว้ใจ
ทุนทางสังคม ก็คือ เครือข่าย ของคน ที่แต่ละเครือข่ายมี ค่านิยม ที่ไม่เหมือนกัน ในแต่ละเครือข่ายก็ประกอบไปด้วยคนที่มี ความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน แต่ทุกๆ คนต่างก็มี ความ ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ตามค่านิยมของเครือข่ายนั้นๆ นั่นเอง
จินตนาการ มด 1 ตัว ที่มีปัญญา
มด 1 ตัว สามารถยกของที่หนักกว่าตัวของมันได้ 10 เท่า แต่หากมี
มด 20 ตัว สามารถยกของที่หนักกว่าพวกมันได้ถึง 200 เท่า
และหากว่า มดทุกๆ ตัวมีปัญญา สามารถประดิษฐ์เครื่องมือช่วยยกของได้
มดปัญญา 1 ตัว สามารถสร้างเครื่องมือยกของที่หนักกว่าตัวของมันได้ 30 เท่า
มดปัญญา 20 ตัว สามารถสร้างเครื่องมือยกของที่หนักกว่าพวกมันได้ 600 เท่า
การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน นั่นคือ 1 ใน ทุนทางสังคม
หนุ่มช่างปั้นหม้อคนเดิมของเรา
ตอนนี้หนุ่มช่างปั้นหม้อของเรา ตั้งแต่ได้ปั้น รูปปั้นเทพธิดานำไปถวายให้กับ พระราชา ก็เป็นที่โปรดปรานของพระราชามากๆ รวมถึงคหบดีทั่วนครา ต่างก็มาไหว้วานให้ช่างปั้นหม้อคนนี้ ปั้นสิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วย
หนุ่มน้อยคนนี้มีเพียง 2 มือ 2 แขน 2 ขา 1 หัว มีเวลาในการทำงานแค่ 365 วันตลอดปี ไม่สามารถรับงานเหล่านี้ได้หมด
เขาได้ไปปรึกษา คุณพ่อและพี่ชายของเขา ทุกคนก็มีงานปั้นหม้อล้นมือกันอยู่แล้ว เขาก็มีความคิดดีๆ เกิดขึ้น เขาไถ่ถามเด็กๆ แถวโรงหม้อของเขา ไปพูดคุย ไถ่ถาม และ ชักชวน เด็กๆ ให้มาช่วยเขาปั้นของต่างๆ โดยแลกกับค่าแรง และ ค่าอาหาร ให้อยู่ฟรีกินฟรีไปเลย โดยเขาจะค่อยๆ สอนและถ่ายทอดวิธีการปั้นหม้อ ให้ติดตัวไปใช้อีกด้วย
เด็กๆ ทั้งหลายต่างก็เข้ามาช่วยงานเขา เริ่มจากงานหยาบๆ เช่น ขึ้นโครง ไปจนงานละเอียด อย่างการตัดลวดลายและการลงสี
แรกเริ่มก็มีเด็กๆ มาช่วยเขาเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น เพราะต่างก็ไม่เชื่อว่า งานปั้นจะทำให้ร่ำรวยเหมือนงานเกษตรได้ (สมัยนั้น ทำเกษตรร่ำรวยมากๆ ในหิมพานต์) แต่พอเด็ก 2 คนนี้ทำงานเก่งขึ้นๆ เด็กๆ ที่เหลือต่างก็เห็นผลงานออกมามากขึ้นๆ ก็ชักชวนกันมาช่วยงานเขามากขึ้นๆ จาก 2 เป็น 4 เป็น 8 เป็น 16 คน จนเขาสามารถตั้งโรงงานที่มีคนมาช่วยเขาถึง 100 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผลิตงานปั้นส่งออกไปยังแคว้นอื่นๆ ห่างไกลอีกด้วย
ที่กล่าวมาคือ เขาได้สร้างทุนทางสังคม ขึ้นมาใหม่
อ.นิพัฒน์ ชัยวรมุขกุล (อ. ALMON) ที่ปรึกษาด้านการวางระบบพัฒนากลยุทธ์องค์กร
โปรดติดตาม ผู้นำทางปัญญา สะสมทุนทางปัญญา ตอนที่ 3 (จบ) ได้ที่นี่